logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงาน ตอนที่ 1

โดย วินย์ ฉายศิริโชติ นักวางแผนการเงิน CFP®
อาจารย์ประจำหลักสูตรการวางแผนการเงินและการลงทุน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เผยแพร่ ณ วันที่ 26 ก.ค. 2566

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้หลาย ๆ คนจำเป็นต้องออกจากงาน หรือเปลี่ยนงานใหม่ รวมถึงบางคนก็อยากผันตัวเองมาประกอบอาชีพอิสระ เมื่อผู้คนเหล่านี้ออกจากงานประจำ ก็จะได้รับเงินก้อนใหญ่จากนายจ้าง ซึ่งหากต้องนำมารวมคำนวณภาษีตามปกติก็จะเกิดภาระภาษีที่สูงมาก กรมสรรพากรจึงกำหนดหลักการมาตั้งแต่ปี 2517 แล้ว ให้สามารถแยกคำนวณภาษีสำหรับเงินได้เหล่านี้ แต่การแยกคำนวณภาษีในกรณีนี้มีเรื่องอะไรที่ต้องรู้และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ระยะเวลาการทำงาน 5 ปี นับอย่างไร

เงื่อนไขแรกของการแยกคำนวณภาษี (ในใบแนบ ภ.ง.ด. 90/91) สำหรับ “เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน” ที่ว่า ต้องเป็นเงินได้ที่จ่ายให้เนื่องจากออกจากงานที่มีระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) วรรคสี่ กำหนดให้ปัดเศษของปีที่ถึง 183 วันขึ้นเป็นหนึ่งปี แต่การปัดเศษนี้ จะใช้กับขั้นตอนการคำนวณค่าใช้จ่ายเท่านั้นนะครับ เงื่อนไขแรกที่ต้องมีระยะเวลาการทำงาน 5 ปีขึ้นไป จะต้องเป็นระยะเวลา 5 ปี นับวันชนวัน หากไม่ครบ 5 ปี จะไม่สามารถเลือกแยกเสียภาษีในใบแนบได้ ต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นในแบบ ภ.ง.ด. 90/91 ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ผู้มีเงินได้ที่ออกจากงานมาแล้วเข้าทำงานใหม่ ไม่ว่ากับนายจ้างรายเดิมหรือรายใหม่ ภายใน 1 ปีหลังออกจากงานเดิม จะสามารถนับระยะเวลาการทำงานกับนายจ้างเดิมรวมกันได้ แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้

  1. เมื่อออกจากงานเดิม ต้องไม่เลือกแยกคำนวณภาษีตามวิธีนี้ (ใบแนบ) และ
  2. หากเป็นการเข้าทำงานกับนายจ้างรายใหม่ จะต้องโอนเงินและผลประโยชน์จากกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ของนายจ้างรายเดิมไปยังกองทุนฯ ของนายจ้างรายใหม่ด้วย

หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้น หรือเข้าทำงานใหม่เกิน 1 ปีหลังออกจากงานเดิม จะนับระยะเวลาการทำงานได้เฉพาะการเข้าทำงานครั้งหลังนะครับ

เงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงานแบ่งเป็นกี่ประเภท แบ่งไปทำไม

เรื่องนี้มาจากการแบ่งประเภทของ “เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน” เป็น 4 ประเภท คือ

  • เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับบำเหน็จข้าราชการ
  • เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund – PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เฉพาะการขายหน่วยลงทุนที่ได้จากการโอนหรือเกี่ยวเนื่องจากการโอนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืนให้แก่กองทุน (RMF for PVD)
  • เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน (กรณีเป็นการให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจ และไม่ใช่กรณีเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ยังคงได้รับยกเว้นภาษีสำหรับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย และไม่เกิน 300,000 บาท)
  • เงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจาก (ก)

สาเหตุที่ต้องแบ่งเงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงานเป็นประเภทต่าง ๆ เช่นนี้ ก็เพราะว่าการคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้แต่ละประเภทจะมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะขอพูดถึงในตอนหน้านะครับ โดยปัญหายอดฮิตสำหรับผู้ที่ออกจากงานในรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนก็คือ เงินที่คำนวณจากฐานเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน ถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีเดียวกับการคำนวณบำเหน็จข้าราชการ ก็ไม่สามารถถือเป็นเงินได้ประเภท (ก) ได้ แต่จะถือเป็นเงินได้ประเภท (ง) เพราะการคำนวณบำเหน็จข้าราชการนั้น พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ “เงินเดือนเดือนสุดท้าย” หมายความรวมถึงเงินเดือนที่ได้เลื่อนในวันสุดท้ายของปีงบประมาณที่เกษียณอายุด้วย (แม้จะไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับเงินเดือนที่ได้เลื่อน) การคำนวณบำเหน็จของหน่วยงานอื่นซึ่งถือเอาเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นฐาน จึงถือได้ว่าไม่มีหน่วยงานใดใช้วิธีการคำนวณเหมือนบำเหน็จข้าราชการได้ทั้งหมด

ใช้สิทธิแยกเสียภาษีข้ามปีภาษีได้หรือไม่

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ออกจากงาน โดยเฉพาะภาคเอกชน มักจะได้รับเงินได้ในลักษณะนี้หลายประเภท เช่น เงินชดเชย เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ ซึ่งเงื่อนไขเดิมระบุแต่เพียงว่า ในกรณีที่ได้รับเงินได้ “จากผู้จ่ายรายเดียวกัน” ต่างปีภาษีกัน จะใช้สิทธิแยกเสียภาษีได้เฉพาะปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น จะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 43/2547 ที่วินิจฉัยว่า เงินชดเชยจ่ายโดยนายจ้าง แต่เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายโดยกองทุนฯ ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลกับนายจ้าง เมื่อผู้มีเงินได้ได้รับเงิน 2 ก้อนนี้ต่างปีภาษีกัน ทำให้สามารถเลือกแยกเสียภาษีได้ทั้ง 2 ปีภาษี ในขณะที่แนวปฏิบัติที่กรมสรรพากรใช้มาก่อนหน้านั้น จะให้สิทธิแยกเสียภาษีได้เฉพาะปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้เนื่องจากออกจากงานกับนายจ้างรายดังกล่าวเท่านั้น ไม่ว่าเป็นประเภทใดก็ตาม

ดังนั้น เพื่อให้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงทำให้ในปี 2560 มีการตัดข้อความ “จากผู้จ่ายรายเดียวกัน” ออก ทำให้ผู้มีเงินได้ไม่สามารถอ้างว่าเงินได้เหล่านี้จ่ายจากผู้จ่ายเงินได้คนละรายกันได้อีกต่อไป หมายความว่า จะเลือกใช้สิทธิแยกเสียภาษีได้เฉพาะปีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ในลักษณะนี้จากการทำงานกับนายจ้างรายนั้นเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นคนละปีภาษีกับปีที่ออกจากงานก็ได้ครับ

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th