logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

5 ข้อผิดพลาดของการวางแผนมรดก

โดย ณัฐพรพิมพ์ อัครภูษิต ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
เผยแพร่ ณ วันที่ 23 ส.ค. 2566

บ่อยครั้งที่เราได้ยินว่า “สองสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตคือ ความตายและภาษี”

ในวันที่เราไม่อยู่ สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่อาจจะลืมนึกถึง คือ การส่งต่อทรัพย์สินอย่างไร ให้ถึงมือลูกหลาน หรือคนที่เรารักได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนภาษีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะภาษีมรดก ที่เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ เพราะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559

ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) ภาษีมรดก เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย และผู้รับมรดกได้รับมรดกรวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท ผู้รับมรดกมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เช่น มิสเตอร์โจ มีสินทรัพย์ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท และยกมรดกให้ลูก 2 คน คนละ 500 ล้านบาท ดังนั้น ลูกหรือผู้รับมรดกต้องเตรียมการสำหรับชำระภาษีการรับมรดกถึงคนละ 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทแรก นั่นคือ 5% ของ 400 ล้าน เท่ากับคนละ 20 ล้านบาท โดยมรดก ประกอบด้วย

  1. อสังหาริมทรัพย์ (ราคาประเมินกรมที่ดิน)
  2. หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (หุ้น)
  3. เงินฝาก
  4. ยานพาหนะ
  5. ทรัพย์สินทางการเงินอื่น เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร หุ้นกู้

5 ข้อที่ต้องควรระวังในการวางแผนภาษีมรดกนั้น

  1. ไม่ได้ชำระภาษีในระยะเวลาที่กำหนด ผู้รับมรดกมีหน้าที่ต้องยื่นแบบภายใน 150 วัน หลังวันที่ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาท การไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี อาจได้รับบทกำหนดโทษทั้งเบี้ยปรับและโทษทางอาญา

เบี้ยปรับ

    • ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเวลาที่กำหนด เสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ
    • ยื่นแบบ แต่ไม่ถูกต้องครบถ้วน หรือเท็จ ทำให้ภาษีขาด เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของภาษีที่เสียเพิ่ม
    • ไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลา ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน

โทษทางอาญา

    • ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ม.60) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท
    • ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    • หากทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัด ให้แก่บุคคลอื่น ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท
    • จงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: ภาษีการรับมรดก, กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/27614.html

  1. ไม่รู้สินทรัพย์และหนี้สินที่มี การที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน อาจทำให้สินทรัพย์บางรายการตกหล่น หรืออาจต้องใช้เวลาในการรวบรวม ซึ่งทำให้ยากต่อการจัดการ และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ได้
  2. ไม่ทราบความแตกต่างของประเภททรัพย์สิน: ทรัพย์สินแต่ละประเภท มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ในเรื่องของ
      1. สภาพคล่อง เช่น ทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ เช่น เงินสด รถยนต์ ทองคำ เครื่องประดับ จะมีสภาพคล่องมากกว่า อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน เป็นต้น
      2. อัตราการเสียภาษีการรับการให้ (gift tax) และภาษีมรดก (inheritance tax) ทรัพย์สินแต่ละประเภทมีความแตกต่างของการชำระภาษีการรับให้ และภาษีมรดก เนื่องจาก
        1. ภาษีการรับให้ (gift tax) เป็นการจัดเก็บภาษีกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินโอนเงินได้ หรือทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่น ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีมรดก โดยบุคคลที่ได้รับทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ โดยเสน่หา จากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จำเป็นต้องเสียภาษีจำนวน 5% ของส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท, และส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษี ในกรณีที่ได้รับจากบุคคลอื่น ในทางกลับกัน ถ้าลูกได้รับที่ดิน จากบุพการีที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์ หรือผู้ครอบครองทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ ในที่นี้ บิดา มารดา จะเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับให้ ในอัตรา 5% ในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทเช่นเดียวกัน
        2. ภาษีมรดก (inheritance tax) เป็นการจัดเก็บภาษีหลังเจ้าของมรดกเสียชีวิตแล้ว โดยผู้รับมรดกจำเป็นต้องเสียภาษีจำนวน 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท หากผู้รับทรัพย์มรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก, และ 10% กรณีอื่น ๆ

ดังนั้น ถ้าพ่อแม่มีที่ดินที่ต้องการส่งต่อมรดกให้ลูกมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท จำเป็นทีต้องคำนึงถึงอัตราการเสียภาษี อีกทั้งพิจารณาเรื่องการทยอยโอนที่ดินบางส่วนเพื่อให้เสียภาษีน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นที่ดินที่สามารถจัดสรรได้ ไม่มีประเด็นในเรื่องของราคาและสภาพคล่องของการซื้อขายที่ดิน เป็นต้น

  1. ไม่จัดการและแบ่งมรดกให้เหมาะสมกับผู้รับ หลายครั้งที่เห็นในข่าวที่มีปัญหาเรื่องแก่งแย่ง คดีความ ฟ้องร้องเรื่องมรดก เนื่องจากเจ้ามรดกอาจไม่ได้มีการทำพินัยกรรมไว้ หรืออาจจะมีแต่ไม่ได้มีการจัดการที่ชัดเจนเหมาะสมกับผู้รับ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันและทะเลาะวิวาทในภายหลัง ในกรณีที่เจ้ามรดกมีทรัพย์สินเป็นจำนวนมากรวมถึงมีทายาทหลายคน ควรวางแผน ดังนี้
    • จัดการแบ่งทรัพย์สินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
    • จัดแบ่งให้มีความเป็นธรรมและชัดเจนกับทายาททุกคน
    • มีการตกลงร่วมกัน หรือจัดให้มีการประชุม เพื่อบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร
    • มีการประชุมทบทวนร่วมกันเป็นระยะๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่ชัดเจนหรือปัญหาภายหลัง
  2. ไม่ได้เตรียมการจัดสรรมรดกล่วงหน้าเพื่อผลประโยชน์ทางภาษี ถ้ามีการจัดการ 4 ข้อข้างต้นได้ดีแล้ว จะทำให้สามารถเตรียมการและวางแผนการเงิน สำหรับนำมาชำระภาษีที่อาจเกิดขึ้นได้ ตามตัวอย่างข้างต้น ที่มิสเตอร์โจ มีที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งผู้รับมรดกจำเป็นต้องเสียภาษีจำนวน 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท หากผู้รับทรัพย์มรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก, และ 10% กรณีอื่นๆ ดังนั้น ลูกมิสเตอร์โจหรือผู้รับมรดกต้องเตรียมการจัดสรรค่าภาษีการรับมรดกถึงคนละ 20 ล้านบาท ในกรณีนี้ มิสเตอร์โจ สามารถวางแผนโดยการจัดสรรเงินสดให้ลูกคนละ 20 ล้านบาท หรืออาจวางแผนโดยการใช้ประกันชีวิต ซึ่งอาจใช้เงินน้อยกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า

สรุป เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น เราสามารถเริ่มวางแผนมรดกได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยการ

  1. รู้สถานะทางการเงินของตัวเองด้วยการทำบัญชีทรัพย์สินที่มีอย่างละเอียด
  2. ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  3. วางแผนให้ส่งต่อมรดกไปยังทายาทโดยได้รับประโยชน์สูงสุดทางภาษี เช่น การทยอยเปลี่ยนทรัพย์สินที่เสียภาษี เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การใช้ประกันชีวิต เป็นต้น

พิจารณาความเหมาะสมในการมอบทรัพย์สินมรดกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเองและทายาทตามมา

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th