logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

VAT จดผิดชีวิตเปลี่ยน

โดย สรวงพิเชฏฐ์ หลายชูไทย นักวางแผนการเงิน CFP®
เผยแพร่ ณ วันที่ 13 ก.ย. 2566

ปฏิเสธไม่ได้ว่าใคร ๆ ก็ต้องการร่ำรวยหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่แน่นอนสิ่งที่ตามติดมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ภาษี  และภาษีประเภทหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจหวาดกลัว คือ VAT หรือ Value-added tax ที่สำคัญหากไม่เข้าใจและเตรียมการรับมือให้ดี เงินที่เก็บมาหลายปีอาจหายไปจนหมดสิ้นในเวลาสั้น ๆ ก็เป็นได้ จึงต้องเรียนรู้แนวทางการรับมือ เพื่อไม่ต้องมาเสียใจ ดังคำกล่าวที่ว่า “รู้อะไรไม่สู้ รู้งี้”

VAT เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นการผลิต ตลอดการจำหน่ายหรือการให้บริการ หรือ เป็นภาษีที่เก็บกับผู้บริโภครายสุดท้าย โดยมีข้อควรรู้และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจด VAT ดังนี้

  • VAT นั้นเก็บจากรายได้ ไม่ใช่กำไร
  • รายได้ บางประเภท ได้รับการยกเว้น VAT เช่น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) อย่าง เงินเดือน โบนัส เป็นต้น
  • ทั้งบุคคล และ นิติบุคคล ล้วนต้องจด VAT หากรายได้ถึงเกณฑ์
  • เกณฑ์ดังกล่าวคือ หากมีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องเข้าสู่กระบวนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนนับแต่นั้นเป็นต้นไป
  • ในประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 10% แต่ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า VAT บ้านเราคือ 7%

โดยขั้นตอนการจด VAT และหน้าที่ต่าง ๆ ที่ต้องทำหลังอยู่ในเกณฑ์ต้องเสีย มีดังนี้

  1. จดทะเบียน ภ.พ.01 ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รายได้เกิน 1.8 ล้านบาท
  2. เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน (สามารถดูได้จากข้อมูลในเว็บของทางสรรพากร)
  3. หลังจากจด VAT เรียบร้อย ท่านจะได้เอกสารที่ชื่อ  ภ.พ.20 ซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว โดยจะต้องเก็บเจ้า ภ.พ.20 นี้ไว้ที่สำนักงาน หากมีเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้ามาตรวจสอบที่สถานประกอบการเรา มักจะขอดูเอกสารตัวนี้ รวมถึงยังใช้ในกรณีต่างๆ เช่น การขอกู้กับธนาคาร อีกด้วย
  4. เมื่อจดแล้ว หากมีการขายจะต้องออกใบกำกับภาษีขาย หากมีการซื้อต้องรับใบภาษีซื้อ และทำรายงานสรุปไว้
  5. มีการยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

บทลงโทษของการจด VAT ล่าช้า

  • ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ต้องเสียค่าปรับเป็น 2 เท่า ของภาษีที่จะต้องชำระนับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี ในแต่ละเดือนภาษี
  • ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ถ้าเศษของเดือนก็จะถูกนับเป็นอีก 1 เดือน
  • ไม่สามารถนำภาษีซื้อที่เกิดในเดือน ก่อนที่จะจด VAT นั้นมาหักภาษีขายได้

หลายคนอาจรู้สึกว่าไม่ได้มีบทลงโทษมากมายอะไร แต่หากมีรายได้ 1.8 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 150,000 บาท แล้วไม่ไปยื่นจด VAT และเมื่อถึงสิ้นปีที่ 2 รายได้ 1.8 ล้านบาท จะมีภาระภาษี + เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มสูงสุดถึง 400,000 บาท และหากยังคงไม่ได้จด VAT ต่อในสิ้นปีที่ 3 ตัวเลขภาระภาษี + เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มนี้จะสูงขึ้นไปถึงกว่า 900,000 บาท

สำหรับที่กำลังจะเริ่มจด VAT และประเมินว่ากิจการน่าจะมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็สามารถเลือกจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงเริ่มต้นกิจการ ซึ่งจะมีประโยชน์ ดังนี้

  1. กิจการได้ใช้สิทธิขอคืนภาษีซื้อสำหรับค่าสินค้าหรือค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มดำเนินการ การจด VAT ทำให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าหรือบริการจะได้ประโยชน์จากการนำภาษีซื้อไปใช้เพื่อลดภาระภาษี
  2. กิจการมีระบบการทำบัญชีการซื้อขายที่ดีขึ้น และสร้างความน่าเชื่อถือ
  3. กิจการได้ยอดขายเพิ่มจากนโยบายของรัฐ กรณีมีแคมเปญภาษี เช่น ช็อปดีมีคืน เป็นต้น

สำหรับคนที่จด VAT ไปแล้ว และกำลังอยากที่จะออกจากระบบ VAT ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยการขอออกจาก VAT โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องมียอดขายต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ติดต่อกัน ถึงจะมีสิทธิขอให้อธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้

โดยสรุป หากมีการบริหารจัดการรายได้และภาษีที่ดีและทำอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ระบบ VAT หรือการออกจากระบบ VAT ก็จะสามารถทำได้อย่างราบรื่น และสบายใจในการทำธุรกิจอย่างโปร่งใส

Appendix:

https://www.accountingpk.com/blog/post/
https://flowaccount.com/blog/ภาษีมูลค่าเพิ่ม-vat/
https://mgronline.com/stockmarket/detail/9650000114834

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th