logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

เทคนิคการวางแผนภาษี สำหรับการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ตอนจบ

โดย รัตนาวดี อนุสรณ์วงศ์ชัย นักวางแผนการเงิน CFP®
เผยแพร่ ณ วันที่ 20 ก.ย. 2566

หากใครมีที่ดินว่างเปล่าและยังไม่มีแผนจะนำไปพัฒนาอะไร อาจพิจารณาปล่อยเช่าให้กับผู้ที่สนใจก็ได้ อย่างน้อย ๆ ก็จะได้มีรายได้จากค่าเช่าที่ดินเข้ามาเป็นประจำตามที่ตกลงกันเอาไว้ เช่น รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี และเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการปล่อยเช่าที่ดิน วิธีหนึ่ง คือ การวางแผนภาษี

กรณีมีเงินได้อื่น นอกจากค่าเช่า

กรณีมีรายได้หลายทาง เช่น นายขยัน ประกอบอาชีพแพทย์ ได้รับเงินเดือนจากโรงพยาบาล เดือนละ 50,000 บาท รายได้จากการเปิดคลีนิค เดือนละ 80,000 บาท รายได้ค่าลิขสิทธิ์จากการเขียนหนังสือ 20,000 บาท โดยปัจจุบัน นายขยันมีรายได้รวม 150,000 บาทต่อเดือน

หากนายขยันต้องการนำที่ดินที่ว่างอยู่เพื่อปล่อยเช่า โดยจะได้รายได้ค่าเช่า 40,000 บาทต่อเดือน ซึ่งรายได้ค่าเช่าดังกล่าวจะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย ซึ่งจะทำให้เสียภาษีสูงขึ้น เนื่องจากเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว นายขยันต้องนำมาคำนวณภาษีในอัตราก้าวหน้า (ร้อยละ 5 - 35) และยังต้องคำนวณเปรียบเทียบกับภาษีขั้นต่ำในอัตราคงที่ที่ร้อยละ 0.5 ของเงินได้พึงประเมินด้วย หากวิธีใดทำให้เสียภาษีมากกว่ากันก็ต้องเสียภาษีไปตามวิธีนั้น จึงทำให้นายขยันมีภาระภาษีเพิ่มมากขึ้น

เทคนิคการใช้ประโยชน์จากการจดทะเบียนก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิ

กรณี นายขยัน มีบุตร 1 คน ชื่อนายขันแข็ง อายุ 22 ปี ทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้รับเงินเดือนเดือนละ 18,000 บาท นายขยัน ผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ อาจพิจารณาจดทะเบียนก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิและโอนทรัพย์อิงสิทธิแบบไม่มีค่าตอบแทนให้แก่นายขันแข็ง (บุตรชอบด้วยกฎหมายของนายขยัน) ซึ่งมีรายได้น้อยกว่า โดยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจดทะเบียนก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิ ดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน 20,000 บาท
  • ค่าออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิหรือใบแทนหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิฉบับละ 10,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนทรัพย์อิงสิทธิแบบไม่มีทุนทรัพย์ครั้งละ 1,000 บาท

ในกรณีนี้ รายได้ค่าเช่าจากการเช่าที่ดิน จะไม่ต้องถูกนำมารวมเป็นเงินได้ของนายขยัน ส่วนนายขันแข็ง ต้องนำรายได้ค่าเช่าไปรวมคำนวณในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากลางปี (ภ.ง.ด.94) และนำรายได้ค่าเช่า ไปรวมกับเงินเดือนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภ.ง.ด.90) แต่มีสิทธินำภาษีที่ชำระกลางปี มาเป็นเครดิตภาษีได้

เทคนิคการวางแผนภาษีข้างต้น เป็นหนึ่งในเทคนิคที่สามารถช่วยให้ประหยัดภาษีได้ เนื่องจากมีการโอนรายได้ค่าเช่าที่ดินเพื่อไปรวมคำนวณเสียภาษีในนามของนายขันแข็งซึ่งเป็นบุตรของนายขยัน ซึ่งนายขันแข็งมีรายได้รวมน้อยกว่ารายขยัน ทำให้เสียภาษีในอัตราภาษีที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกรณีการนำรายได้ค่าเช่าไปเสียภาษีในนามของนายขยัน

อย่างไรก็ตาม การโอนทรัพย์อิงสิทธิให้แก่นายขันแข็ง ต้องเป็นการกระทำโดยมีเจตนาโอนกันจริง มิใช่การแสดงเจตนาลวงโดยผู้มีรายได้ค่าเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่แท้จริงยังเป็นนายขยัน เพราะหากเป็นการแสดงเจตนาลวงจะเข้าข่ายการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

อ่านบทความตอนที่ 1 ได้ที่ https://tfpa.or.th/Article/Detail/1093

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th