logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

จ่ายหนี้ต่อเดือน แค่ไหนที่เรียกว่าไหว

เผยแพร่วันที่ 22/04/2024

 

หากเอ่ยถึงคำว่า “หนี้” ก็ถือเป็นดาบสองคมของหลาย ๆ คน โดยด้านหนึ่งเปรียบเสมือนทางลัดที่ช่วยให้เข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการได้เร็วขึ้นที่ไม่ต้องรอเก็บเงินให้ครบทั้งก้อน เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ แทนที่จะรอเก็บเงินก้อนใหญ่เป็นเวลาหลายปี ก็กู้สินเชื่อบ้านหรือรถ ก็จะช่วยให้มีบ้านหรือได้รถเร็วขึ้น หรือหากต้องการเรียนต่อก็ใช้วิธีกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาก็จะช่วยให้สามารถเรียนต่อได้เร็วขึ้น

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เมื่อเป็นหนี้แต่บริหารจัดการผิดพลาด อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ ๆ ได้ เช่น จ่ายหนี้ช้าก็มีภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ยิ่งมีหนี้มาก ดอกเบี้ยก็ยิ่งสูงก็กัดกินเงินออม แถมเสียค่าปรับก็ส่งผลเสียต่อเครดิต หรือเกิดความเครียดก็ส่งผลต่อสุขภาพจิต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากเป็นช่วงเศรษฐกิจดี ๆ การงานมั่นคง เงินทองเข้ามาไม่ขาดมือ ได้โบนัสทุกปี ภาระหนี้สินที่ก่อเอาไว้ก็ไม่น่าจะกระทบกับเงินในกระเป๋า แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจเพราะหากมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนมากจนเกินไป ย่อมส่งผลต่อสุขภาพการเงินในระยะยาว ดังนั้น ต้องถามตัวเองว่ามีความจำเป็นแค่ไหนในการก่อหนี้

การสำรวจว่าตัวเองมีภาระหนี้แต่ละเดือนมากน้อยแค่ไหน สามารถคำนวณได้จาก DSR ย่อมาจาก Debt Service Ratio หมายถึง อัตราส่วนเงินสำหรับใช้ผ่อนชำระหนี้กับรายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งตามหลักสุขภาพการเงินที่ดี DSR ไม่ควรเกิน 40%

สูตรคำนวณ DSR = (ภาระหนี้ต่อเดือน ÷ รายได้ต่อเดือน) x 100

โดยหนี้สินที่นำมาเพื่อตรวจสุขภาพทางการเงินจะเป็นหนี้สินปัจจุบันต่อเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนรายได้ที่นำมาคำนวณจะเป็นรายได้ต่อเดือนทั้งหมด เช่น เงินเดือน รายได้พิเศษ เป็นต้น

ตัวอย่าง

มีเงินเดือน 50,000 บาท มีหนี้สินต้องผ่อนต่อเดือน ได้แก่ หนี้บ้าน (9,000 บาท), หนี้รถ (7,000 บาท), หนี้บัตรเครดิต (3,000 บาท), ผ่อนมือถือ (800 บาท) รวมทั้งหมด 19,800 บาท

จากสูตร DSR = 18,800 ÷ 50,000 x 100 = 39.60% แสดงว่า ถือว่าฐานะทางการเงินยังแข็งแรง มีความสามารถในการจ่ายหนี้แต่ละเดือนได้ตามปกติ แต่หากลดหนี้ลงไปได้ก็ควรลด

 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเกิดวิกฤติ เงินทองหายาก ไม่รู้ว่าจะถูกเลิกจ้างวันไหน รายได้พิเศษก็ไม่เข้ามาเลยแม้แต่บาทเดียว หากต้องการทำให้สุขภาพการเงินมีความแข็งแรง นอกจากการลดค่าใช้จ่ายแล้ว การหยุดก่อหนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดี

อาจโต้แย้งว่าที่ผ่านมาเคยผ่อนหนี้เดือนละ 19,800 บาท จะให้มาลดทันที เจ้าหนี้คงไม่ยอม ที่สำคัญเมื่อไม่ผ่อนตามเงื่อนไขก็จะผิดเงื่อนไขและมีปัญหาตามมา เช่น ภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย หรือรถโดนยึด ดังนั้น หากให้การผ่อนหนี้ลดลง

ควรเริ่มต้นด้วยการหยุดกู้ยืมก้อนใหม่ ถัดมา คือ ใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น หากทำได้จำนวนหนี้ที่ต้องผ่อนในแต่ละเดือนจะลดลง

จากตัวอย่างด้านบน เช่น หากหยุดการใช้บัตรเครดิต (3,000 บาท) ก็จะเหลือผ่อนหนี้แต่ละเดือน 16,800 บาท ทำให้ DSR เหลือ 33.60% หมายความว่า จะมีเหลือเงินในกระเป๋าเอาไว้ใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น

ตารางประกอบบทความ

DSR น้อยกว่า 15% = มีหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

DSR ระหว่าง 15 - 40% = มีหนี้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม

DSR ระหว่าง 40 - 50% = มีหนี้เกินตัว

DSR มากกว่า 50% = มีหนี้ระดับขั้นอันตราย

อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นในการก่อหนี้ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเกิดวิกฤติ จำเป็นต้องวางแผนอย่างรอบคอบ รัดกุม เพื่อลดความเสี่ยงและภาระหนี้ในอนาคต ต่อไปนี้ คือ แนวทางการวางแผนก่อหนี้ให้เหมาะสม

ประเมินสถานการณ์ทางการเงินของตัวเอง

  • ตรวจสอบรายรับ รายจ่าย เงินออม และภาระหนี้ที่มีอยู่
  • คำนวณความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ว่าสามารถผ่อนไหวหรือไม่
  • พิจารณาถึงความมั่นคงของหน้าที่การงานและรายได้

พิจารณาความจำเป็นในการกู้ยืม

  • กู้ยืมเงินเฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ
  • หลีกเลี่ยงการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
  • พิจารณาทางเลือกอื่น เช่น การหารายได้เสริม

เปรียบเทียบข้อเสนอจากสถาบันการเงินต่าง ๆ

  • เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม เงื่อนไข และระยะเวลาการผ่อนชำระ
  • เลือกสินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการผ่อนชำระ

กู้ยืมเงินในจำนวนที่จำเป็น

  • กู้ยืมเงินในจำนวนที่น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการกู้ยืมเงินเกินตัว

เตรียมแผนสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน

  • เตรียมเงินสำรองเผื่อไว้สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
  • วางแผนรับมือกับสถานการณ์เลวร้าย เช่น ตกงาน

ศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเงื่อนไขการกู้ยืม

  • อ่านสัญญาเงินกู้ให้ละเอียดก่อนเซ็นชื่อ
  • สอบถามข้อมูลให้ครบถ้วน

ชำระหนี้คืนตรงเวลา

  • วางแผนการผ่อนชำระหนี้ให้ชัดเจน
  • ชำระหนี้คืนตรงเวลาทุกงวด
  • หลีกเลี่ยงการจ่ายหนี้ล่าช้า

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

  • ปรึกษานักวางแผนการเงิน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อ
  • ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและการจัดการหนี้จากนักวางแผนการเงิน

การก่อหนี้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเกิดวิกฤติอาจมีความเสี่ยงสูง จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบ เริ่มต้นด้วยการศึกษาข้อมูล ถามตัวเองว่าควรก่อหนี้แค่ไหนที่ไม่สร้างปัญหาด้านการเงินในระยะยาว และเมื่อตัดสินใจก่อหนี้ก็ต้องจ่ายหนี้คืนให้ตรงเวลาตามเงื่อนไขที่กำหนด และเตรียมแผนสำรองการเงินเพื่อช่วยให้การกู้ยืมเงินเป็นไปอย่างปลอดภัยและลดความเสี่ยงในอนาคต

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th