logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

ชวนมาออกกำลังกายด้านการเงินเพื่อสุขภาพการเงินที่ดี

โดย สุมิตรา อภิรัตน์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

การมีสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และทุกคนส่วนใหญ่จะเลือกใช้การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ทำให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรงหรือบางคนอาจจะใช้วิธีการเลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย การพักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงความเครียด เพื่อทำให้เรามีสุขภาพที่ดี หากพูดถึงเรื่องการเงิน ทุกคนอยากมีสุขภาพการเงินที่ดีเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจึงชวนทุกคนมาออกกำลังกายด้านการเงินเพื่อสุขภาพการเงินที่ดี

 

1. เริ่มต้นการออกกำลังกายการเงินด้วยการฝึกออมเงิน

 

การออมเงินเปรียบเสมือนการออกกำลังกายการเงิน ยิ่งเราออมเงินเยอะเพียงใด จะทำให้เรายิ่งมีสุขภาพการเงินที่ดี บางคนอาจจะไม่เคยออกกำลังกายเลย ซึ่งก็หมายความว่าเราไม่เคยเก็บเงินได้เลย หาเงินได้มาเท่าไรก็ใช้หมด เป็นสิ่งที่จะทำให้เรามีสุขภาพการเงินที่ไม่ดี ดังนั้นเราควรต้องเริ่มต้นออมเงินให้ได้ โดยช่วงแรกเราอาจจะยังเก็บเงินได้น้อย ก็เหมือนกับการออกกำลังกายจากคนที่ไม่ออกกำลังกายเลย แล้วเราเริ่มต้นด้วยการเดินแบบสบายๆ ก่อน ไม่กดดันจนเกินไป จะทำให้เราอยากจะออกกำลังกายต่อไป ซึ่งการเริ่มต้นการออกกำลังกายด้านการเงินนี้เราต้องตั้งใจให้แน่วแน่ก่อน เพราะหลายคนคงเคยตั้งเป้าหมายที่จะเริ่มออกกำลังกาย และแล้วจะมีข้ออ้างขึ้นมา เช่น เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยเริ่ม ซึ่งเป็นการผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ สะสมเป็นระยะเวลานานจาก วันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็นเดือน จนกระทั่งเป็นปี ท้ายที่สุดก็ไม่ได้เริ่มต้นออกกำลังกายสักที ในทำนองเดียวกัน เรามักมีข้ออ้างในการใช้เงินเสมอ เช่น ไม่เคยพลาดซื้อของ sale หรืออ้างว่าทำงานหนักมามากพอแล้ว ก็ควรจะให้รางวัลตัวเองบ้าง บางคนรูดบัตรเครดิตใช้เงินในอนาคตอย่างเพลิดเพลิน พอมารู้ตัวอีกทีเงินหมด ไม่ได้เริ่มเก็บออมเงินเลย ดังนั้นเราควรเริ่มต้นออกกำลังกายการเงินด้วยการเก็บออมเงินตอนนี้ทันทีเลย

 

2. พัฒนาความรู้ทางการเงินเพื่อทำให้เงินออมเติบโต

 

เมื่อเราเริ่มต้นออกกำลังกายได้แล้ว เราควรจะเพิ่มความเข้นข้นของการออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬาชนิดต่างๆ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือฟุตบอล ก็เปรียบเสมือนเราเริ่มออมเงินเก่งมากขึ้น ดังนั้นเราควรพัฒนาขีดความสามารถของเราโดยการพัฒนาความรู้ทางการเงินเพื่อทำให้เงินที่เราออมมานั้นเติบโตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเราสามารถเรียนรู้การเงินเพื่อนำมาปรับเลือกใช้วิธีการออมเงินด้วยตราสารทางการเงินที่เราชอบหรือถนัดตามระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ เช่น ออมเงินผ่านบัญชีธนาคาร ซื้อกองทุนหรือหุ้น ซึ่งปัจจุบันนี้เราสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ รวมทั้งอ่านหนังสือหรือบทความทางการเงินด้วย โดยที่การพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ทางการเงินนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้สุขภาพการเงินของเราดีขึ้นเช่นกัน

 

3. ฝึกออกกำลังกายด้านการเงินให้เป็นนิสัย

 

ทุกคนคงเห็นด้วยว่าวินัยเป็นสิ่งสำคัญในการทำอะไรสักอย่างให้ประสบความสำเร็จ หากเรามีนิสัยการเก็บออมเงินแล้ว เราจะสามารถกำหนดเป้าหมายทางการเงินและเก็บออมเงินได้ตามที่วางเป้าหมายไว้ วิธีที่จะทำให้เรามีวินัยคือการมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเราต้องการเก็บเงินไปเพื่ออะไรและทำไมต้องเป็นเป้าหมายนี้ ซึ่งเป้าหมายที่ชัดเจนนี้จะทำให้เรามั่นใจว่าเราจะออมเงินต่อไปได้เรื่อยๆ ทุกๆวัน จนเป็นนิสัย ดังนั้นเราต้องฝึกออกกำลังกายให้เป็นนิสัย รวมทั้งฝึกออมเงินให้เป็นนิสัยด้วยเช่นกัน

 

4. ลด ละ เลิก ใช้จ่ายสิ่งที่ไม่จำเป็น

 

การเลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ และลด ละ เลิก อาหารที่มีไขมันเยอะ เป็นปัจจัยในการทำให้สุขภาพดีเช่นเดียวกับสุขภาพการเงิน หากเราต้องการสุขภาพการเงินที่ดีแล้ว เราควรลด ละ เลิก ใช้จ่ายสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะหากเราใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยแล้ว จะทำให้เรามีหนี้และต้องรับภาระในการใช้คืนหนี้ การลด ละ เลิก ใช้จ่ายสิ่งที่ไม่จำเป็น อาจเริ่มต้นจากการจดบันทึกรายรับ - รายจ่าย เพื่อดูว่าในแต่ละเดือนมีรายจ่ายไม่จำเป็นรายการใดที่พอจะลดลงได้บ้าง และนำเงินส่วนนั้นมาจ่ายหนี้ให้หมดเร็วขึ้น เชื่อว่าหากเราฝึกพฤติกรรมการลด ละ เลิก และปฏิบัติจนเป็นนิสัยแล้ว จะทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน สิ่งสำคัญอย่าปล่อยให้ตัวเองมีภาระหนี้มากจนเกินไป เพราะจะมีโอกาสประสบปัญหาทางการเงินที่รุนแรงกว่าคนที่ไม่มีหนี้ หนี้ที่เกิดขึ้นมานั้นอาจจะมีทั้งหนี้ดีหรือหนี้ไม่ดี หนี้ดีหมายถึงหนี้ที่ทำให้เกิดประโยชน์ ก่อให้เกิดรายได้หรือประโยชน์มากกว่ารายจ่าย เช่น หนี้เพื่อการศึกษา ส่วนหนี้ไม่ดีหมายถึงก่อให้เกิดรายจ่ายมากกว่ารายได้ เช่น หนี้บัตรเครดิต ซึ่งทุกคนที่มีหนี้จะมีภาระเรื่องการใช้หนี้คืน ทำให้เราต้องเหนื่อยมากขึ้นและมีสุขภาพการเงินที่ไม่ดี การลด ละ เลิก ใช้จ่ายสิ่งที่ไม่จำเป็นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพการเงินที่ดี

 

เราสามารถนำ 4 แนวทางนี้มาปรับใช้เพื่อออกกำลังกายด้านการเงินเพื่อสุขภาพการเงินที่ดี หากเรามีสุขภาพกายดี สุขภาพใจดี และสุขภาพการเงินที่ดี เราคงมีความสุขในการใช้ชีวิตไปตลอดเลย ขอให้ทุกท่านหมั่นออกกำลังกายทั้งกายและใจ รวมทั้งอย่าลืมออกกำลังกายทางด้านการเงินด้วยนะคะ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th