logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

เทคนิคกำจัดหนี้แบบหิมะถล่ม

โดย กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ปัญหาหนี้สิน เป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนปวดหัว จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะเริ่มเคลียร์หนี้อย่างไร ซึ่งวิธีจัดการนั้นง่ายและไม่ยาก เริ่มจากตั้งสติแล้วก็ลงมือทำ สำหรับเทคนิคกำจัดหนี้ที่คุ้นเคย คือ การปลดหนี้แบบลูกบอลหิมะ (Debt Snowball Method) ที่เริ่มจากการกำจัดหนี้ก้อนที่เล็กที่สุดก่อนจนหมด ในขณะที่หนี้ก้อนอื่นๆ จ่ายเพียงขั้นต่ำเท่านั้น เมื่อจ่ายหนี้ก้อนที่เล็กที่สุดหมดแล้วค่อยไปจัดการหนี้ก้อนที่ใหญ่ขึ้นลำดับถัดไป ซึ่งเป็นวิธีที่พิจารณาเพียงจำนวนยอดหนี้ที่เหลือเท่านั้น จะไม่คำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยของหนี้

 

ดังนั้น จึงมีเทคนิคกำจัดหนี้ที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง คือ การกำจัดหนี้แบบหิมะถล่ม (Debt Avalanche Method) เหมาะกับผู้ที่มีหนี้สินหลายก้อน โดยแต่ละก้อนมีอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน และต้องการจัดการหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดออกไปก่อน

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะจัดการหนี้ด้วยเทคนิคไหน สิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ คือ หยุดก่อหนี้และตรวจสอบหนี้คงค้างทั้งหมด แจกแจงรายการหนี้ ยอดคงเหลือ อัตราดอกเบี้ย และยอดเงินผ่อนต่อเดือน และหากตัดสินใจจัดการหนี้ด้วยเทคนิคแบบหิมะถล่ม ให้เรียงหนี้จากอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดไปหาต่ำสุด ที่สำคัญพิจารณายอดเงินคงเหลือในแต่ละเดือนที่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ หลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและเงินสำรองฉุกเฉินออกแล้ว

 

ตัวอย่าง การกำจัดหนี้แบบหิมะถล่ม

 

มีหนี้ 3 รายการ และยอดเงินคงเหลือที่สามารถนำมาผ่อนชำระหนี้ได้ เดือนละ 10,000 บาท

  • หนี้ A : 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ยอดชำระขั้นต่ำ 2,000 บาท
  • หนี้ B : 40,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปี ยอดชำระขั้นต่ำ 4,000 บาท
  • หนี้ C : 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 8% ต่อปี ยอดชำระขั้นต่ำ 3,000 บาท

 

ในเบื้องต้น ไม่ว่าจะเลือกกำจัดหนี้ด้วยเทคนิคใดก็ต้องชำระขั้นต่ำของหนี้ทุกก้อน แสดงว่าต้องชำระหนี้ A B และ C ขั้นต่ำเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 9,000 บาท และเหลือเงินหลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและเงินสำรองฉุกเฉินออกแล้ว ที่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ 1,000 บาท โดยหากเป็นเทคนิคกำจัดหนี้แบบลูกบอลหิมะจะเลือกนำเงิน 1,000 บาท ไปโปะหนี้ A ซึ่งมียอดหนี้ต่ำที่สุด

 

สำหรับเทคนิคกำจัดหนี้แบบหิมะถล่มจะเลือกนำเงิน 1,000 บาท ไปโปะหนี้ B ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด และเมื่อหนี้ก้อนนี้หมดไป ก็จะนำเงิน 4,000 บาทที่เคยชำระขั้นต่ำหนี้ B มารวมกับเงิน 1,000 บาท (รวมทั้งหมดเป็น 5,000 บาท) ชำระหนี้ C เป็นลำดับถัดไปเพราะมีอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นลำดับรองลงมา และเมื่อชำระหนี้ C จนหมด ก็นำยอดเงิน 5,000 บาท มารวมกับเงิน 3,000 บาทที่เคยชำระขั้นต่ำหนี้ C ในเดือนก่อน (รวมทั้งหมดเป็น 8,000 บาท) มาชำระหนี้ A ไปเรื่อยๆ จนหนี้หมด

 

เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย แบบหิมะถล่ม

 

ตราบใดที่ยังมีวินัยทำตามแผนที่วางไว้ เทคนิคกำจัดหนี้แบบหิมะถล่มจะช่วยร่นระยะเวลาการชำระหนี้ให้สั้นลง เพราะอัตราดอกเบี้ยในการคิดคำนวณเป็นแบบทบต้น ดังนั้น การจัดการหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอัตราดอกเบี้ย

 

อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หากผู้ชำระหนี้หยุดจ่ายหนี้ในบางงวดหรือขาดแรงบันดาลใจในการปลดหนี้ ยิ่งกรณีที่หนี้ก้อนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับหนี้ก้อนอื่นๆ ก็จะยิ่งใช้เวลานานในการปลดหนี้ก้อนแรก

 

เมื่อเทียบกับเทคนิคกำจัดหนี้แบบลูกบอลหิมะที่อาจทำให้มีกำลังใจในการกำจัดหนี้มากกว่า เพราะเป็นเทคนิคที่เลือกจัดการหนี้ก้อนที่น้อยที่สุดก่อน ผู้ชำระหนี้จะสัมผัสได้ถึงชัยชนะเล็กๆ (Small Win) จึงไม่รู้สึกย่อท้อไปเสียก่อน

 

เทคนิคกำจัดหนี้แบบหิมะถล่ม เหมาะกับใคร

 

เทคนิคนี้ต้องการจ่ายดอกเบี้ยให้น้อยที่สุด จึงต้องหาวิธีการปลดหนี้แบบเร่งรัดและต้องชำระหนี้มากกว่ายอดขั้นต่ำในแต่ละเดือน จึงเหมาะกับผู้ที่มีกระแสเงินสดคงเหลือต่อเดือนเพียงพอกับยอดที่ต้องชำระ และต้องการประหยัดทั้งดอกเบี้ยและเวลา ต้องการกำจัดหนี้ให้หมดโดยเร็วที่สุด ที่สำคัญต้องมีวินัยด้านการเงิน

 

ทางออกเมื่อเงินไม่พอชำระหนี้

 

ถ้าหากสนใจกำจัดหนี้ด้วยเทคนิคแบบหิมะถล่ม แต่เงินที่เหลือในแต่ละเดือนเพียงพอแค่จ่ายหนี้ขั้นต่ำ ควรเริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองว่ามีโอกาสได้รับเงินก้อนเข้ามาในช่วงเวลาอันใกล้หรือไม่ เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา โบนัส รายได้พิเศษจากการขายของออนไลน์ จากนั้นก็วางแผนกันเงินก้อนนี้สำหรับชำระหนี้ หรือถ้ามีสินทรัพย์บางอย่างที่แปลงเป็นเงินได้อาจต้องขายบางส่วนมาชำระหนี้ ขณะเดียวกันต้องลดรายจ่ายด้วย

 

อีกทั้ง สามารถใช้หลักการรีไฟแนนซ์หรือทำสัญญากู้ใหม่ ด้วยการนำหนี้หลายก้อนที่ยังค้างชำระมารวมเป็นก้อนเดียว (Debt Consolidation) โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่ต้องต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม หรือถ้าเป็นหนี้นอกระบบก็เปลี่ยนเป็นหนี้ในระบบ หรือปรึกษากับเจ้าหน้าเพื่อหาทางประนอมหนี้ ขอลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาชำระหนี้เพิ่ม เป็นต้น

 

สำหรับการกำจัดหนี้ด้วยเทคนิคแบบหิมะถล่มไม่ได้การันตีว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่วิธีที่เหมาะสมที่สุด คือ วิธีที่สามารถทำได้ในระยะยาวและช่วยปลดหนี้ได้ ที่สำคัญถึงแม้จะปลดหนี้ได้แต่หากไม่แก้ไขที่ต้นเหตุ คือ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่สนใจวางแผนการเงิน ปัญหานี้ก็จะเกิดขึ้นแบบไม่รู้จบ ดังนั้น หากต้องการหลุดพ้นวงจรหนี้ต้องหยุดทุกอย่างที่จะทำให้ก่อหนี้ หยุดใช้จ่ายเกินกำลัง ที่สำคัญเริ่มต้นวางแผนการเงิน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพทางการเงินให้แข็งแกร่งในระยะยาว

 

ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th