logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับกองมรดก

โดย บุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®

ปัจจุบันยังมีความเข้าใจว่าเมื่อมีทรัพย์สมบัติไม่มาก หรือมีไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) การส่งต่อมรดกจึงไม่จำเป็นต้องวางแผน เนื่องจากสามารถจัดการได้โดยผ่านกระบวนการของศาลตามที่กฎหมายกำหนด

ความจริงแล้วหลังจากที่เจ้ามรดกเสียชีวิต นอกจากเรื่องการแบ่งกองมรดกให้ทายาทโดยชอบธรรมตามลำดับแล้ว ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับกองมรดกซึ่งในประเทศไทยได้กำหนดให้ผู้มีรายได้เกิน 60,000 บาทต่อปี จะต้องยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดา เรื่องด้วยเหตุนี้ภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมรดกจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวของเจ้ามรดกและผู้รับมรดกมาก ดังสำนวนของ Benjamin Franklin ที่กล่าวว่า “ในโลกนี้ ไม่มีอะไรแน่นอน นอกจากความตายและการจ่ายภาษี”

ดังนั้น การเตรียมการวางแผนมรดกโดยการทำพินัยกรรมให้กับทายาท และการคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าของเจ้ามรดกจะเป็นช่วยให้การส่งมอบทรัพย์สินให้กับทายาท ที่มีความชัดเจนและตรงตามจุดประสงค์ของเจ้ามรดกมากที่สุด และยังช่วยลดความเข้าใจผิด ความขัดแย้ง และเพิ่มความปรองดองระหว่างทายาทด้วยกันเอง

นอกจากนี้เจ้ามรดกต้องเตรียมการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกที่ไว้วางใจให้ทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกองมรดกให้มีประสิทธิภาพและประหยัดเงินมากขึ้นด้วย โดยในที่นี้จะกล่าวถึงภาษีที่เกี่ยวข้องกับกองมรดก 3 หัวข้อสำคัญ ดังนี้

  • ภาษีบุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) เมื่อเจ้าทรัพย์เสียชีวิตระหว่างปีภาษี ผู้จัดการมรดกจะต้องมีหน้าที่ยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาในปีภาษีถัดไป และถ้าหากในปีต่อ ๆ ไป ยังไม่ได้มีการแบ่งกองมรดกให้กับทายาท ผู้จัดการมรดกจำเป็นต้องยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาของกองมรดกทุก ๆ ปีจนกว่าจะมีการแบ่งกองมรดกและโอนให้ทายาท เช่น เจ้าทรัพย์ได้เสียชีวิตในเดือนมิถุนายน 2565 ผู้จัดการมรดกต้องยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาของเจ้ามรดกในปี 2566 โดยคิดจากรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเต็มปีในปี 2565 และหากว่าภายในปี 2566 กองมรดกยังไม่ได้มีการแบ่งให้กับทายาท ผู้จัดการมรดกยังคงต้องยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาในนามกองมรดกให้กับกรมสรรพากรภายในปี 2567 และต้องยื่นต่อไปทุก ๆ ปี จนกว่าการโอนทรัพย์สินในกองมรดกให้ทายาทได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์

  • ภาษีของทรัพย์สินในกองมรดกเอง ภาษีที่เกิดขึ้นย่อมขึ้นอยู่กับประเภทของทรัพย์สินในกองมรดกด้วย โดยเฉพาะทรัพย์สินประเภทที่ดินและอาคารต่าง ๆ การชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (Land and Building Tax) ของโฉนดแต่ละฉบับนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากการไม่ชำระภาษีในระยะเวลาที่กำหนด จะทำให้เกิดยอดค้างการชำระภาษี มีค่าปรับและค่าเงินเพิ่มในแต่ละเดือน หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นอาจถูกยึดได้ ทำให้กองมรดกมีมูลค่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสุดท้ายทรัพย์สมบัติอาจตกเป็นของแผ่นดินได้ แทนที่ทายาทจะได้รับอย่างที่เจ้ามรดกตั้งใจมอบให้

  • ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) ซึ่งเป็นภาระของทายาทผู้รับมรดกในกรณีที่มูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับเกิน 100 ล้านบาท ในอัตรา 5% หรือ 10% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของทายาท โดยทายาทที่เป็นบุพการีและผู้สืบสันดานจะเสียภาษีในอัตรา 5% ส่วนทายาทที่มิใช่บุพการีและผู้สืบสันดาน จะต้องเสียภาษีในอัตรา 10% ซึ่งการรับทรัพย์สินมรดกในกรณีนี้ ผู้รับมรดกจะต้องยื่นภาษีที่ถูกต้องภายใน 150 วัน นับตั้งแต่ได้รับมรดก ถึงแม้ว่าภาษีส่วนนี้เป็นของผู้รับมรดก มิใช่เป็นของเจ้าทรัพย์ผู้เสียชีวิต แต่ถ้าผู้รับมรดกไม่สามารถชำระภาษีส่วนนี้ อาจทำให้ผู้รับมรดกมีหนี้สินจากกองมรดกและอาจได้รับโทษทั้งทางแพ่งและอาญาได้ การส่งต่อทรัพย์สินจะยังคงไม่สมบูรณ์ และหากกองมรดกยังคงมีทรัพย์สินค้างอยู่ก็ย่อมจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้มูลค่าของทรัพย์สินในกองมรดกลดลงในอนาคตอีกด้วย

จะเห็นได้ว่ากองมรดกที่มีมูลค่าไม่ว่ามากหรือน้อยนั้นย่อมมีค่าใช้จ่ายและมีภาษีหลายประเภทที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การวางแผนการจัดการมรดกที่ดี จึงจำเป็นต้องมีการทำพินัยกรรมที่จัดการทุกอย่างอย่างรอบคอบ เพราะนอกจากจะเป็นการส่งต่อทรัพย์สินให้กับทายาทผู้รับได้ตามที่เจ้ามรดกต้องการอย่างแท้จริงแล้ว ยังช่วยให้ผู้จัดการมรดกได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดปัญหา ลดความขัดแย้งและประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้เจ้าทรัพย์ยังเป็นบุคคลตัวอย่างในด้านวางแผนมรดกที่ดี ช่วยทำให้ทายาทมีความปรองดองกัน และเป็นแนวทางให้ทายาทสามารถส่งต่อทรัพย์สินให้กับทายาทในรุ่นต่อ ๆ ไปได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th