logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

ไม่จ่ายภาษี โดนลงโทษอะไรบ้าง

โดย ยุทธภูมิ เกียรติอุ้มสม นักวางแผนการเงิน CFP®

การวางแผนทางการเงินเป็นกิจกรรมที่ครอบคลุมและเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเงินของแต่ละบุคคล ทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิตและตอบสนองต่อความต้องการและเป้าหมายเฉพาะของแต่ละบุคคลได้i ซึ่งประกอบไปด้วย แผนการลงทุน แผนการประกัน แผนเพื่อวัยเกษียณ และแผนทางภาษี ภาษีถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของการประกอบกิจการ นอกจากการเพิ่มรายได้เพื่อให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นแล้ว การลดต้นทุนด้วยการวางแผนทางภาษีก็เป็นการเพิ่มรายได้สุทธิด้วยเช่นกัน ดังนั้นแผนทางภาษีจึงมีความสำคัญและการวางแผนภาษีได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดจะช่วยลดภาระทางภาษีได้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีอากรประเภทหนึ่งที่จัดเก็บจากบุคคลธรรมดาโดยกรมสรรพากรii ซึ่งรัฐบาลนำภาษีที่จัดเก็บได้ไปใช้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จัดบริการสาธารณะที่เอกชนไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระจายความมั่งคั่งอย่างยุติธรรม โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถูกจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 31 มีนาคมด้วยการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 และวันที่ 1 กรกฎาคมถึงวันที่ 30 กันยายนด้วยการยื่นแบบภ.ง.ด. 94 ของทุกปี หากผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรiii ย่อมทำให้เกิดความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา กรณีต่าง ๆ ดังนี้

บทกำหนดโทษทางแพ่ง เป็นความรับผิดที่ต้องถูกบังคับให้ชำระหนี้ iv กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ประมวลรัษฎากรได้กำหนดหน้าที่ของผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีความรับผิดดังต่อไปนี้

1. กรณีผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจะออกหมายเรียกมาไต่สวน หรือสั่งให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดงเพื่อตรวจสอบ และประเมินให้ถูกต้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฎหรือประเมินตามที่รู้ว่าถูกต้อง ซึ่งผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีที่ต้องชำระv

2. กรณีผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี เจ้าพนักงานประเมินจะออกหมายเรียกมาไต่สวน หรือสั่งให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดงเพื่อตรวจสอบvi และประเมินให้ถูกต้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฎหรือประเมินตามที่รู้ว่าถูกต้อง ซึ่งผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษีที่ต้องชำระvii นอกจากนี้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาทจากการไม่ยื่นแบบเสียภาษีภายในเวลาที่กำหนดไว้viii

3. นอกจากเบี้ยปรับตามแต่กรณีที่กล่าวมาแล้ว ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องเสียโดยไม่รวมเบี้ยปรับ แต่เงินเพิ่มนั้นไม่เกินจำนวนภาษีทั้งหมดที่ต้องเสียix

นอกจากวิธีที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีอีกวิธีที่เป็นผลดีและเป็นการลดปัญหาความยุ่งยากทางกฏหมาย คือ ให้ฝ่ายบิดาทำพินัยกรรมระบุชื่อบุตรดังกล่าวเป็นทายาทที่ได้รับมรดกตามพินัยกรรมจะทำให้บุตรนอกกฏหมายสามารถรับมรดกตามเจตนาและความต้องการของฝ่ายบิดาได้อย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่น ผู้ต้องเสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบและมีหมายเรียกให้นำพยานหลักฐานต่าง ๆ มาแสดงเพื่อตรวจสอบ ณ วันที่ 15 มิถุนายน และปรากฎว่ามีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียจำนวน 100,000 บาท ผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษีที่ต้องชำระจากการไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีจำนวน 200,000 บาท และต้องรับผิดเสียเงินเพิ่ม โดยนับจากวันที่ 31 มีนาคมซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ต้องยื่นเสียภาษีประจำปีถึงวันที่ 15 มิถุนายนเป็นเวลา 2 เดือนกับอีก 15 วัน ผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย 100,000 บาทเป็นจำนวน 1,500 บาทต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 3 เดือนเป็นจำนวน 4,500 บาท และต้องระวางโทษปรับจากการไม่ยื่นแบบเสียภาษีภายในกำหนดเวลาอีก 2,000 บาท ดังนั้นผู้ต้องเสียภาษีต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับจากการไม่ยื่นแบบเสียภาษีภายในกำหนดเวลาจำนวนทั้งสิ้น 306,500 บาท

บทกำหนดโทษทางอาญา เป็นความรับผิดที่มีลักษณะผูกพันต่อตัวบุคคลไม่ใช่ทรัพย์สินx ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สินxi กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ประมวลรัษฎากรได้กำหนดหน้าที่ของผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีความรับผิดดังต่อไปนี้

1. กรณีจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับxii ดังต่อไปนี้

  • 1.1 เจ้าพนักงานประเมินเรียกให้มาชำระภาษีเงินได้ที่คงค้าง หรือเรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี และเรียกให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอันจำเป็นในการจัดเก็บภาษีเงินได้ที่คงค้าง ซึ่งต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

  • 1.2 เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกผู้ต้องเสียภาษีมาไต่สวน กรณียื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง และให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดง ซึ่งต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

  • 1.3 คณะกรรมการอุทธรณ์ออกหมายเรียกผู้ต้องเสียภาษีที่ทำการอุทธรณ์มาไต่สวน และให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดง ซึ่งต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน

  • 1.4 คณะกรรมการอุทธรณ์ออกหมายเรียกผู้ต้องเสียภาษีที่ทำการอุทธรณ์มาไต่สวน และให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดง ซึ่งต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน

2. กรณีเจตนาแจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง หรือโดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือขอคืนภาษีอากร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปีและปรับตั้งแต่สองพันถึงสองแสนบาทxiii

3. กรณีเจตนาไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับxiv

นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงไม่แสดงรายการเสียภาษี หรือยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้องที่มีจำนวนตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขี้นไป รวมทั้งการขอคืนเงินภาษีอากรที่มีจำนวนตั้งแต่สองล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป โดยกระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย และมีพฤติกรรมปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรีอย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 8/2564 มีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังนั้นประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ที่ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป

การวางแผนภาษีมีความจำเป็นต่อการบริหารกระแสเงินสดและความมั่งคั่งของบุคคล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและตอบสนองต่อความต้องการและเป้าหมายในชีวิต แต่อย่างไรก็ตามการวางแผนภาษีต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่วางแผนด้วยการหลบหลีก (Avoidance) คืออาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยง (Evasion) คือใช้วิธีที่ผิดกฎหมายxv เพราะนอกจากจะมีบทลงโทษทางแพ่งด้วยการเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้ว ยังมีบทลงโทษทางอาญาที่มีโทษจำคุก ส่งผลต่อความมั่นคงและกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการในชีวิตอย่างแน่นอน ดังนั้นการวางแผนภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนดจึงมีความสำคัญและเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล

บรรณานุกรม
     ประมวลรัษฎากร.
     ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม, คำสอนวิชากฎหมายภาษีอากร (พิมพ์ครั้งที่ 13, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา 2563).
     ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, หลักสูตรการวางแผนการเงิน: ชุดวิชาที่ 1 พื้นฐานการวางแผนการเงิน (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มปป.).
     สุเทพ พงษ์พิทักษ์, การวางแผนภาษีอากร (สำนักงานวิชิตา ทนายความ บัญชีและธุรกิจ 2541).
     สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์, ความรู้กฎหมายทั่วไป กฎหมายในชีวิตประจำวัน (พิมพ์ครั้งที่ 2, โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2561).

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th