logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

วางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี มีแต่ดี ไม่มีเสีย

โดย ณัฐพล ควรสถิตย์ นักวางแผนการเงิน CFP®
POSSIBLE Wealth Advisory Services

หลายคนมักคิดว่าการจัดการภาษีเป็นเรื่องที่สามารถทำเมื่อไรก็ได้ เพียงแค่จัดการให้ทันภายในสิ้นปีของทุกๆ ปี ส่วนจะจัดการอย่างไร จะลดหย่อนด้วยสินค้าทางการเงินอะไร เป็นปริมาณเท่าไร ขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดในช่วงนั้นๆ หรือบางคนมีการจัดการที่ดีขึ้นอีกขั้น เตรียมจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับการซื้อสินค้าทางการเงินเพื่อการลดหย่อนภาษี

หากถามว่าสิ่งที่กล่าวมานั้น คือ การจัดการภาษีที่เรียบร้อยหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ เป็นการจัดการภาษีที่เรียบร้อย แต่อาจจะยังไม่ใช่วิธีการจัดการภาษีอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด

ดังนั้น เพื่อให้การจัดการภาษีมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่สุด ต้องเปลี่ยนจากการจัดการภาษี เป็น “การวางแผนและจัดการภาษี”

อ่านดูเผินๆ เหมือนจะเพิ่มแค่คำว่า “วางแผน” แต่ผลประโยชน์ที่ได้มีมากมายแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการวางแผนจัดการภาษีตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่รอจนกระทั่งโค้งสุดท้ายของปีภาษี

อาจสงสัยว่าเพียงแค่การวางแผนภาษีจะมีประโยชน์อะไรมากมาย จะจัดการภาษีช่วงไหน จะทยอยจัดการหรือจัดการทีเดียวช่วงปลายปี สุดท้ายไม่น่าจะมีความแตกต่างกัน หากปริมาณค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีไม่แตกต่างกัน มาลองดูถึงข้อดีและข้อได้เปรียบ ว่าถ้าหากผู้มีภาระภาษีมีการวางแผนจัดการภาษีที่ดีและมีการเริ่มต้นจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถจัดสรรปัจจัยต่างๆ อะไรได้บ้าง

จัดสรรแผนการจัดการได้อย่างครอบคลุม แนวทางที่ดีสำหรับการเริ่มต้นวางแผนภาษีคือ การที่คุณสามารถคาดการณ์ถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่จะมีผลกระทบทั้งในเชิงบวก และเชิงลบกับภาระภาษี ฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ในชีวิตที่มีโอกาสจะกระทบกับภาระภาษี ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถประเมินหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ อาจจะไม่แน่นอน 100% แต่ถ้าจะรอสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น แล้วต้องมาปรับเพิ่มค่าลดหย่อนต่าง ๆ ปลายปี อาจจะไม่ทันการ ไม่ว่าจะเหตุผลด้านความพร้อมของกระแสเงินสด ความพร้อมของเวลา เป็นต้น

จัดสรรเวลาได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่ผู้มีภาระภาษีสามารถจัดสรรเวลา แบ่งมาจัดการภาษีได้อย่างเหมาะสม เพราะมีการวางแผนล่วงหน้าและทยอยลงมือจัดการมาโดยตลอดปีภาษี ขณะที่อีกคนหนึ่งต้องมานั่งกังวล เร่งรีบหาสินค้าทางการเงิน เปรียบเทียบสินค้าทางการเงิน ใช้เวลาไปกับการจัดการภาษีที่ใกล้จะหมดเวลาเต็มที และอีกปัจจัยที่เชื่อว่าอาจเคยประสบพบเจอ คือ ในช่วงปลายปีจะมีวันหยุดค่อนข้างเยอะ สินค้าทางการเงินบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทางการเงินประเภทกองทุน โดยเฉพาะกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศบางกองที่อยากจะลงทุน แต่ติดวันหยุดยาว สุดท้ายต้องไปซื้อกองทุนกองอื่น โดยที่ไม่เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริง

จัดสรรกระแสเงินสดได้อย่างลงตัว ผู้มีภาระภาษีที่มีการวางแผนจัดการภาษีแต่เนิ่น ๆ ย่อมสามารถจัดสรรกระแสเงินสดได้อย่างเหมาะสม เพราะอย่าลืมว่ากระแสเงินสดรับที่เข้ามาไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพใด เป็นผู้มีเงินได้ 40(1) – 40(8) ส่วนใหญ่แล้วมักจะทยอยเข้ามาตลอดทั้งปี อาจจะเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน แต่เชื่อว่าน้อยคนที่จะรับรายได้ก้อนเดียวปลายปี ดังนั้น การทยอยจัดการลดหย่อนภาษีไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนในกองทุน SSF และ RMF ในรูปแบบของ DCA (Dollar-Cost Average) หรือแบ่งช่วงเวลาในการซื้อสินค้าลดหย่อนอื่น ๆ ย่อมช่วยให้ผู้มีภาระภาษีสามารถบริหารกระแสเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รัดตัวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งมากจนเกินไป โดยเฉพาะผู้มีเงินได้ 40(5) – 40(8) ที่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ดังนั้น การไม่วางแผนจัดการภาษีให้ดีย่อมส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดตั้งแต่การยื่นภาษีครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน

ข้อนี้สำหรับผู้มีเงินได้ 40(1) ลูกจ้างสามารถแจ้งสิทธิค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนที่จะใช้หักได้ตั้งแต่ต้นปีเพื่อที่นายจ้างจะสามารถคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างในปริมาณที่ถูกต้องตามข้อกำหนด และวิธีการของกรมสรรพากร1 ซึ่งเมื่อเทียบกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยไม่รวมสิทธิการลดหย่อนภาษี
ลูกจ้างที่มีการวางแผนจัดการภาษี และมีการแจ้งสิทธิแก่นายจ้าง ย่อมโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายน้อยกว่า และมีกระแสเงินสดส่วนเพิ่มสามารถนำไปจัดการแผนการเงินต่อ  

และสำคัญที่สุด อยากให้ทุก ๆคนที่มีภาระภาษีต้องจัดการ ตระหนักไว้เสมอว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้นั้น ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ไม่ใช่แต่เพียงด้านภาษีเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละประเภทล้วนมีประโยชน์ และมีวัตถุประสงค์ตามคุณลักษณะเฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นๆ  

  • กองทุน SSF, RMF สำหรับสั่งสมมูลค่า เพิ่มพูนความมั่งคั่ง และเป็นกองทุนในยามเกษียณอายุ
  • ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพื่อสร้างทุนประกันให้กับคนที่คุณรัก ห่วงใย หรือเป็นทุนการศึกษาให้กับบุตร
  • ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพื่อการออมเงินที่ได้ผลตอบแทนที่แน่นอน พร้อมทั้งทุนประกันตลอดระยะเวลาของสัญญา
  • ประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อเงินคืนในยามเกษียณอย่างคงที่ (เปรียบเสมือนเงินบำนาญ) และการันตีเงินคืนรายงวด

ดังนั้น อย่าให้การซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการลดหย่อนภาษีเป็นเพียงการจ่ายเงินหรือลงทุนไปเพื่อผลประโยชน์ทางภาษีเท่านั้น แต่อยากให้ทุกคนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ โดยอิงจากแผนทางการเงินที่จัดการมาอย่างรอบคอบและได้รับผลพลอยได้ของสินค้าทางการเงินนั้นๆ ในรูปของสิทธิประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษี

หากอ่านถึงตรงนี้และมีความต้องการเริ่มวางแผนจัดการภาษี ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ควรลงมือทำได้ทันที เชื่อเลยว่าจะได้เห็นถึงข้อได้เปรียบ ข้อดี และเห็นข้อแตกต่าง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านๆ มา และสุขภาพทางการเงินจะดีขึ้นอย่างแน่นอน

อ้างอิง
(1) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.96/2543 (https://www.rd.go.th/3558.html)

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th