logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

เริ่มต้นวางแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพด้วย Financial Pyramid Ep.2

โดย รัฐพล วชิรเมฆากุล นักวางแผนการเงิน CFP®

เมื่อ EP.1 นั้น เราได้รู้จักการบริหารกระแสเงินสดรับ-จ่าย และการบริหารความเสี่ยงซึ่งเป็น 2 ส่วนรากฐานของการวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพไปแล้ว ใน EP. นี้ชวนทุกท่านมารู้จักกับ 2 ส่วนต่อมาที่จะช่วยต่อยอดแผนการเงินของทุกท่านไปถึงจุดสุดยอด

ส่วนที่ 3: Wealth Creation
เมื่อพื้นฐานของพีระมิดมั่นคงเพียงพอและมีมาตรการรองรับความเสี่ยงที่รัดกุมแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาการต่อยอดพีระมิดการเงินขึ้นไป หรือ การสร้างความมั่งคั่ง โดยการวางแผนการเงินให้สามารถสร้างความมั่งคั่งได้นั้น เป้าหมายการเงินเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คือต้องเริ่มต้นจากการตอบตัวเองให้ได้ว่า “เราเก็บเงิน หรือ ต้องการมีเงินมากๆ ไปเพื่ออะไร” เช่น บางคนอาจต้องการเกษียณตัวเองจากการทำงานเร็วในวัย 50 หรือ บางคนวางแผนเก็บเงินไว้เพื่อการเลี้ยงดูลูกในอนาคต เป็นต้น เพราะหากเป้าหมายทางการเงินไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก โอกาสในการล้มเลิกความตั้งใจเพื่อสร้างความมั่งคั่งและต่อยอดทางการเงินก็จะยิ่งมีสูงขึ้น

Tips ในการตั้งเป้าหมายอย่างง่ายคือการตอบคำถาม 3 ข้อดังนี้ เป้าหมายการเงินของเราคืออะไร ต้องการบรรลุเป้าหมายเมื่อไหร่ (ภายในกี่ปี ปีพ.ศ. หรืออายุที่ต้องการ) จำนวนเงินที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย

เมื่อตกลงกับตัวเองได้แล้ว พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน การต่อยอดทางการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งก็จะสามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ

  • 1. การลงทุนเพื่อเป้าหมายที่จำเป็น (Need Base)
    เป็นการลงทุนเพื่อเป้าหมายที่สำคัญ เช่น ลงทุนเพื่อนำผลตอบแทนมาเป็นงบใช้จ่ายประจำวันเมื่อเกษียณอายุ หรือเป็นงบสำหรับจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณ โดยการวางแผนลงทุนเพื่อเป้าหมายนี้ควรจะต้องให้ความสำคัญมากที่สุด อีกทั้งยังควรมีวินัยและความระมัดระวังในการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง
  • 2. การลงทุนเพื่อต่อยอดเป้าหมายทางการเงิน (Want Base)
    เป็นการลงทุนเพื่อให้ชีวิตสบายยิ่งขึ้น หรือเพื่อต่อยอดเป้าหมายการเงินที่สูงยิ่งขึ้น ซึ่งถึงแม้จะไม่มี หรือ ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เช่น หากค่าใช้จ่ายการเกษียณอายุในข้อ 1 อยู่ที่ 50,000 บาทต่อเดือน โดยคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งหากวางเป้าหมายเพื่อการต่อยอดร่วมด้วย ก็อาจวางแผนลงทุนเพิ่มค่าใช้จ่ายรายเดือนหลังเกษียณเป็น 100,000 บาทได้ โดยหากใครตั้งเป้าหมายในส่วนนี้เข้าไปด้วยก็อาจจัดพอร์ตลงทุนให้มีความเสี่ยงสูงกว่าข้อ 1 ได้ และควรแยกพอร์ตลงทุนต่างหากให้ชัดเจน

โดยการลงทุนทั้งแบบ Need Base และ Want Base ตามที่อธิบายไปข้างต้นนั้น ทุกคนควรจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับระยะเวลาที่ให้กับการลงทุน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เลือก ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ หุ้น กองทุนรวม ประกันชีวิต ประกันควบการลงทุน (Unit Linked) สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของนักลงทุน ทั้งในระหว่างลงทุน และในช่วงที่จะใช้เงินตามเป้าหมายนั้นๆ ด้วย

ส่วนพิเศษ! Wealth Distribution หรือ Wealth Transfer

เมื่อวางแผนการเงินจนสามารถสร้างความมั่งคั่ง และมีเงินเพียงพอต่อความต้องการแล้ว จุดสุดยอดของการสร้างพีระมิดทางการเงินให้เสร็จสมบูรณ์ คือ การส่งต่อความมั่งคั่งไปให้กับลูกหลานและคนในครอบครัว แต่หากใครที่ไม่มีครอบครัว หรือญาติเพื่อรับมรดกก็สามารถนำเงินในส่วนนี้ไปบริหารด้านอื่นๆ เช่น มอบให้กับมูลนิธิ หรือ บริจาคให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อทำสาธารณประโยชน์ต่อไป

เครื่องมือที่ใช้ในการวางแผน Wealth Distribution นั้นอาจเป็นได้ทั้งสินค้าทางการเงิน หรืออาจเป็นการทำทะเบียนทรัพย์สิน และพินัยกรรมประกอบกันทั้ง 3 ส่วนก็ย่อมได้ ขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ ลักษณะ และเป้าหมายในการบริหาร ความชอบ หรือความถนัดของผู้รับ

สำหรับในขั้นตอนนี้ เราสามารถวางแผนบริหารเงินด้วยการวางแผนมรดกให้มีประสิทธิภาพ โดยจัดสรรปันส่วน พร้อมวางเงื่อนไขทางกฎหมายและสัญญาทุกข้อให้ชัดเจน รวมถึงต้นทุนในการส่งมอบทรัพย์สินแต่ละชิ้นอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้การส่งมอบสินทรัพย์นั้นตรงตามความตั้งใจทั้งของผู้ให้ และถูกใจผู้รับ ป้องกันการทะเลาะเบาะแว้ง สร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย และเพื่อเป็นบริหารภาษีมรดกได้อย่างถูกต้อง

ถ้าใช้ Financial Pyramid วางแผนการเงิน อย่าลืมวางแผนภาษีด้วย!
เมื่อจัดสรรปันส่วนทุกฐานของพีระมิดทางการเงินเรียบร้อยแล้ว “การจัดการภาษี” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมาร้อยเรียงและช่วยให้การวางแผนการเงินนี้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น เคล็ดลับง่ายๆ ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ถูกกฎหมาย เสียภาษีน้อยที่สุด และต้องไม่กระทบต่อส่วนต่าง ๆ ของพีระมิดทางการเงิน โดยตามกฎหมายแล้ว เราสามารถทำได้โดยการลดหย่อนภาษี และมองหาการลงทุนที่เพิ่มความมั่งคั่งได้ เช่น การลงทุนกองทุนรวม RMF และ SSFเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี การออมกับประกันชีวิต การทำประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือ Unit Linked เป็นต้น

ถึงจะดูเป็นการวางแผนการเงินที่ใช้เวลา แต่ Financial Pyramid ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีบริหารการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตได้ครอบคลุมมากที่สุดวิธีหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นวิธีการได้รับการยอมรับในระดับสากลอีกด้วย อย่างไรก็ดี การวางแผนทางการเงินให้เหมาะสมกับความต้องการ เป้าหมาย และชีวิตของแต่ละคนยังมีอีกหลายเทคนิควิธี ซึ่งแต่ละวิธีอาจปรับใช้ร่วมกับ Financial Pyramid เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการได้เช่นกัน

ดังนั้น หากใครอยากเริ่มต้นวางแผนทางการเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมายและการเงินของตัวเองมากที่สุด สามารถปรึกษานักวางแผนการเงินCFP ที่จะช่วยให้คุณมองภาพชีวิตทางการเงินอย่างรอบด้านได้

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th