logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

เริ่มต้นวางแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพด้วย Financial Pyramid Ep.1

โดย รัฐพล วชิรเมฆากุล นักวางแผนการเงิน CFP®

การมีอิสรภาพทางการเงินอาจเริ่มต้นได้จากการวางแผนการเงินที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้อาจไม่ต้องอาศัยเทคนิคหรือความซับซ้อนอะไรมากมาย แต่ต้องมีความเข้าใจกับการวางแผนทางการเงินขั้นพื้นฐาน ที่สามารถนำไปปรับให้เข้ากับความต้องการและเป้าหมายของตัวเองได้ โดย Financial Pyramid เป็นหลักการวางแผนการเงินที่ยอมรับใช้กันแพร่หลายทั่วโลก

Financial Pyramid คืออะไร?
พีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) เป็นเทคนิคการวางแผนทางการเงินรูปแบบหนึ่ง ที่มีแนวคิดพื้นฐานคล้ายกับการสร้างพีระมิด ให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของวัสดุและโครงสร้างเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มสร้างเป็นจากฐานรากไปถึงชั้นบนสุด และหลังคาอย่างมั่นคง ดังนั้น หากเปรียบเทียบเป็นเรื่องของการเงินแล้ว การวางแผนการเงินด้วยแนวคิด Financial Pyramid นี้จึงเป็นการสร้างพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแรงเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเงินที่สูงขึ้น หรือ เป็นการสร้างความมั่งคั่งให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากพื้นฐานทางการเงินนั่นเอง

3+1 ส่วนของ Financial Pyramid ที่ต้องรู้
นักวางแผนการเงินแต่ละคนอาจมีแนวทางในการออกแบบและวางแผนการเงินด้วย Financial Pyramid ที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยพื้นฐานแล้ว พีระมิดทางการเงินที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับเป้าหมายทางการเงินของทุกคนนั้นจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก และอีก 1 ส่วนพิเศษ ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้

ส่วนที่ 1: Cash Flow Management
เพราะพื้นฐานของพีระมิดที่มั่นคงนำไปสู่การต่อยอดความสูงของพีระมิดที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการวางแผนทางการเงินแล้ว การสร้างพื้นฐานพีระมิดให้แข็งแรงและมั่นคงนั้นต้องเริ่มต้นจากการบริหารรายรับและรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพเสียก่อน ซึ่งหลักพื้นฐานง่ายๆ ของการบริหารเงินในส่วนนี้ สามารถทำได้โดยการบริหารรายจ่ายให้น้อยกว่ารายได้เพื่อนำส่วนต่างไปต่อยอด หากเรามีรายรับที่น้อยกว่ารายจ่ายเมื่อไหร่ นอกจากจะไม่มีเหลือเก็บแล้ว ในส่วนนี้จะกลายเป็นหนี้สิน
การบริหารรายรับรายจ่ายนี้อาจเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการมีวินัยทางการเงินที่สม่ำเสมอ หมั่นทำบัญชีรายการรายรับและรายจ่ายในทุกๆ วัน เพื่อสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของตัวเอง ตลอดจนหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้สินโดยไม่จำเป็น เช่น การใช้เงินบัตรเครดิตเกินวงเงิน การใช้บัตรเครดิตผิดประเภท หรือ ชำระค่างวดเป็นเงินขั้นต่ำจนทำให้เป็นหนี้สะสมไปเรื่อยๆ

ส่วนที่ 2: Risk Management
เริ่นต้นที่เงินสำรองฉุกเฉิน
เมื่อสร้างพื้นฐานของพีระมิดให้แข็งแรงโดยการบริหารรายรับรายจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ทุกคนยังควรเริ่มเก็บเงินทุนสำรอง 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนเป็นอันดับแรก เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ทำให้เสียความสามารถในการสร้างรายรับไป หรือมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย อย่างคนในครอบครัวเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ เงินในส่วนนี้ก็จะเข้ามาช่วยดูแลสภาพคล่องทางการเงินได้

แต่หลายคนอาจมองว่าการบริหารความเสี่ยงในส่วนนี้เป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะสุดท้ายทุกคนก็สามารถนำเงินลงทุนออกมาใช้จ่ายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การนำเงินลงทุนออกมาใช้ถือเป็นการทำลายเป้าหมายทางการเงินแบบอ้อมๆ เลยก็ว่าได้ เพราะอย่าลืมว่าเงินที่นำไปลงทุน ควรถูกนำไปใช้เพื่อต่อยอดทางการเงินในเรื่องอื่นๆ เช่น นำไปใช้เป็นเงินก้อนสำหรับเกษียณอายุ หรือ นำไปต่อยอดเพื่อการลงทุนทางธุรกิจ หรือเป้าหมายการเงินอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งอาจมีความผันผวน และสภาพคล่องไม่เหมาะกับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่ต้องใช้เร่งด่วน เสริมความมั่นคงด้วยประกัน

อย่างไรก็ดี การบริหารรายรับรายจ่ายให้มั่นคง จนมีเงินทุนสำรอง 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายปัจจุบันก็อาจทำให้เรามีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในยามขาดรายได้ แต่เงินส่วนนี้จะพอใช้แค่เพียง 3 - 6 เดือนเท่านั้น เรียกว่าเหมาะกับการป้องกันความเสี่ยงเล็กน้อยหรือความเสี่ยงบางส่วนเท่านั้น หากเรามีปัญหาสุขภาพ เป็นโรคร้าย เกิดอุบัติเหตุ หรือมีการผ่าตัดที่ต้องใช้เวลารักษาตัวนานจนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม และไม่มีรายรับเหมือนอย่างเคย เท่ากับว่าเงินทุนสำรองนี้จะต้องนำมาใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ และอาจทำให้ไม่มีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างค่าผ่อนรถยนต์ บ้าน จนกลายเป็นปัญหาหนี้สินได้ ด้วยเหตุนี้ เพื่อวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น แม้จะมีเงินทุนสำรองแล้ว การมีประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันโรคร้ายแรง และประกันอุบัติเหตุก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ช่วยโอนย้ายความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายและเหตุการณ์ฉุกเฉิน ยังทำให้เราไม่ต้องดึงเงินที่เก็บออมเพื่อเป้าหมายอื่นๆ ในอนาคตมาใช้ และช่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ตรงจุดโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการบริหารค่าใช้จ่ายที่ไม่ลงตัว

ข้อควรระวัง:
ก่อนที่จะเลือกทำประกันประเภทใดก็ตาม อย่าลืมพิจารณาถึงความจำเป็น งบประมาณที่เหมาะสม ตลอดจนความเสี่ยงที่ประกันตัวนั้นๆ สามารถคุ้มครองได้ เพราะหากเลือกทำประกันโดยไม่เช็กรายละเอียดให้ดี ประกันที่จะเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงก็อาจกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปได้เช่นกัน

สำหรับ EP. นี้ขออนุญาตจบที่การบริหารความเสี่ยง ส่วนขั้นต่อๆ ไปของพีระมิดการเงินเพื่อให้การวางแผนการเงินสมบูรณ์ ติดตามอ่านได้ใน EP. ถัดไป

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th