logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

สร้างนิสัยการออม

โดย ชุติมา พงษ์เสน่ห์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTT™

วันเวลาผ่านไปไวมาก อิป้ารู้สึกเหมือนเหตุการณ์เกิดเมื่อวานนี้เอง เมื่อข้ามหลักเลขห้า ภาระในชีวิตลดลง มีเวลาทบทวนตัวเองมากขึ้น ลูกชายคนเดียวที่มีก็ผ่านการทำงานปีแรกดูแลตัวเองได้แล้ว

วันก่อนลูกเล่าว่า ได้ตัดสินใจซื้อโทรศัพท์ไอรุ่นล่าสุดด้วยบัตรเครดิตแบบผ่อน 0% 10 เดือน เพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ต้องทำงานที่บ้านมาเกือบตลอด โทรศัพท์เครื่องเดิมเริ่มไม่สะดวกต่อการทำงานแล้ว ราคาผ่อนต่อเดือนประมาณสี่พันห้าร้อยบาท นึกตกใจแต่ก็ยอมรับในเหตุผล จำนวนเงินที่ใช้ผ่อนประมาณ 13% ของรายได้แต่ละเดือน

นึกถึงเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วเมื่อตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องแรก ด้วยเหตุผลว่าเป็นพนักงานขาย ช่วยให้สะดวกในการติดตามงาน ติดต่อลูกค้า ราคาเครื่องที่ตัดสินใจซื้อคือ 18,000 บาท จ่ายด้วยบัตรเครดิตเต็มจำนวน เงินเดือนตอนนั้นประมาณ 9,500 บาท ค่าคอมมิชชั่นออกทุกสามเดือน ไม่มีแบบผ่อน ต้องเตรียมวางแผนการใช้เงินให้พร้อม ให้มีเงินพอจ่ายทั้งจำนวนเมื่อถึงกำหนดชำระ เพราะค่าดอกเบี้ยที่บัตรเครดิตเรียกเก็บสูงมาก

มาเทียบกับเวลานี้เมื่อมีบัตรเครดิต สินค้าและบริการต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีโปรโมชั่น ยั่วใจให้ใช้จ่าย โน่นนี่นั่นอะไรก็อยากได้ สินค้าราคาหลักพันก็ยังมี 0% 10 เดือน ผ่อนน้อยหลักร้อยต่อเดือน นึกแล้วอิป้าก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าสมัยก่อนถ้ามีโปรโมชั่นยั่วใจแบบนี้จะทนไหวไหมนะ

เมื่ออิป้าแต่งงาน มีครอบครัวลูก 1 คนใช้ชีวิตด้วยแนวคิดทำงานใช้เงินตามที่มีแต่ไม่เป็นหนี้ มีเงินก็ใช้อยากได้ก็ซื้อ ไม่ค่อยมีเหลือเก็บ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อลูกอายุได้แปดขวบ จุดเปลี่ยนในชีวิตก็มาถึง

แม่ของอิป้าเป็นห่วงว่ายังใช้รถคันเก่าไม่ค่อยปลอดภัยแล้ว อยากให้ซื้อคันใหม่ที่พี่ชายใช้มาสองปี โดยจะขายให้ในราคาถูกมากพร้อมทั้งซื้อที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ในทำเลที่เมืองจะขยายออกไปในอนาคต

อิป้าก็ฟังเฉยๆ เพราะไม่มีเงินมากขนาดนั้นและไม่อยากเป็นหนี้ แต่แม่ตกลงเรื่องรถและที่ดินให้เรียบร้อย โดยออกเงินซื้อให้ก่อน แล้วให้ผ่อนชำระคืนให้แม่ทุกเดือน อิป้าจึงต้องตกกระไดพลอยโจนเป็นเจ้าของทรัพย์สินและลูกหนี้โดยปริยาย เวลานั้นอิป้ามีเงินสดอยู่จำนวนหนึ่งฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ ดอกเบี้ยเงินฝากไม่น่าเกินร้อยละ 1.5 ต้องจัดสรรเงินการใช้เงินใหม่ให้ทุกเดือนมีเงินจ่ายคืนแม่เดือนละ 20,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยแม่ร้อยละ 3 จ่ายอยู่หลายปีกว่าจะหมดหนี้ แต่มันคือจุดเริ่มต้นให้เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องเงิน

มื่อลูกเริ่มเป็นวัยรุ่นอิป้าหยุดทำงานประจำ ใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน ดูแลลูก ดูแลเรื่องเงินในครอบครัวอย่างจริงจัง และเริ่มตกใจว่าครอบครัวแทบไม่มีเงินเก็บออม จึงได้เริ่มฝากเงินทุกเดือนด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน บัญชีแบบนี้จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าบัญชีเงินฝากทั่วไปและไม่หักภาษีดอกเบี้ยแต่ให้มีได้แค่คนละ 1 บัญชีเท่านั้น เงื่อนไขคือต้องฝากเท่ากันทุกเดือน ขั้นต่ำสุดคือเดือนละ 1,000 บาทและสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และไม่ให้เบิกถอนระหว่างทาง

อิป้าก็คิดเอาแบบง่ายๆ ว่าถ้าไม่ให้ถอนแต่จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ก็ปิดบัญชีได้ไม่ได้ดอกเบี้ยก็ไม่เป็นไร เพื่อความมั่นใจว่ามีเงินฝากแน่นอนทุกเดือนเลยเริ่มต้นฝากที่เดือนละ 1,000 บาท เวลานั้นยังต้องไปธนาคารเองทุกเดือนเพื่อฝากเงินที่เคาน์เตอร์

รู้สึกว่ามันนานมากกว่าจะครบ 2 ปี ได้เงินเมื่อครบกำหนดมา สองหมื่นสี่พันกับเศษประมาณเจ็ดร้อยกว่าบาทจากดอกเบี้ย จำนวนเงินรวมไม่มาก แต่สิ่งที่ได้มาคือความรู้สึกว่าเราทำสำเร็จ ออมก่อนใช้ก็ทำได้ ความมั่นใจเริ่มมา เลยตัดสินใจเริ่มเงินฝากรอบใหม่มาต่อเนื่อง

จากครอบครัวที่เคยต่างคนต่างจัดการเงินรายได้ของตนเอง ก็เปลี่ยนมาเป็นอิป้าจัดการเงิน รายได้สูงขึ้นภาษีเงินได้ก็สูงตาม ก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี นอกเหนือจากการทำประกันชีวิตก็ต้องศึกษาเกี่ยวกับกองทุนลดหย่อนภาษี จึงได้เรียนรู้เรื่องการลงทุนอื่นๆ พัฒนาตัวเองมาต่อเนื่อง เรียนรู้การวางแผนทางการเงิน วางเป้าหมายการเงิน

จัดการเรื่องเงินในครอบครัวมาจนถึงวันนี้อิป้ามั่นใจว่า ได้พยายามมองรอบด้านมากเพียงพอที่จะรับความเปลี่ยนแปลงทางการเงิน พร้อมรับการเกษียณทั้งที่มาแบบไม่ทันตั้งตัวและต้องยืดเวลาเกษียณออกไปแล้ว มีเงินเพียงพอที่จะดูแลชีวิตและสุขภาพในระยะยาวได้อย่างต่อเนื่องโดยมีคุณภาพชีวิตตามสมควร
จากการทบทวนชีวิต อิป้าพบว่าตัวเองโชคดีที่พบจุดเปลี่ยน ไม่มีความสำเร็จในการออมแบบใดเกิดได้โดยไม่เริ่มต้นลงมือทำ และเรียนรู้ต่อเนื่อง

วินัยในการออมเป็นเรื่องที่ต้องฝึก และเมื่อเราทำสำเร็จในเป้าหมายแรก เป้าหมายต่อๆไปก็จะไม่ยากเกินความพยายาม เราอาจจะตั้งเป้าหมายทางการเงินให้ตัวเองได้ร้อยแปด กดเครื่องคิดเลขทำแผนทางการเงิน เปิดตำราสารพัด แล้วอาจ

จะเขียนเป้าหมายมาแบบนี้ แต่ถ้าไม่ลงมือปฏิบัติ เป้าหมายก็คงจะเป็นเพียงรูปสวยๆ บนแผ่นกระดาษเท่านั้นเอง

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อิป้าอยากทำแบบนี้เมื่อเริ่มมีลูก

  • 1. จะคำนวณเงินที่ต้องให้ลูกเป็นรายวันทุกวันตั้งแต่วันแรกที่ลูกเกิด
  • 2. จะแบ่งกระปุก*ใส่เงินของลูกเป็น 6 กระปุก แล้วเขียนข้างกระปุกเอาไว้แบบนี้

  • 3 เมื่อมีการนำเงินออกไปใช้ต้องบันทึกค่าใช้จ่าย เมื่อลูกโตขึ้นมากพอที่จะรับรู้ ให้ลูกเอาเงินไปใส่ในแต่ละกระปุกด้วยตัวเอง และเมื่อต้องนำเงินแต่ละส่วนออกจากกระปุกไปใช้จ่ายหรือนำไปฝากออม ตามวัตถุประสงค์ก็จะให้ลูกมีส่วนร่วมในกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อของเล่น การแบ่งปันเอื้อเฟื้อ ให้ลูกมีส่วนในการตัดสินใจเสมอ
  • 4 เมื่อลูกเข้าโรงเรียน ค่อยๆ เพิ่มความรับผิดชอบในการจัดสรรเงินค่าขนม เมื่อลูกอ่านเขียนบวกลบได้ จะฝึกให้ลูกทำบันทึกรายรับจ่ายด้วยตัวเอง เมื่อลูกโตพอจะจัดสรรเงินค่าขนมเป็นรายสัปดาห์ได้ จ่ายเป็นรายสัปดาห์ และปรับไปตามช่วงอายุเป็นรายครึ่งเดือน รายเดือนตามความเหมาะสม เพื่อฝึกให้มีความพร้อมที่จะดูแลตัวเอง
  • 5 เมื่อมีโอกาส จะกระตุ้นให้ลูกหัดหารายได้เล็กๆ น้อยๆ เพื่อเก็บออม สมทบซื้อของที่ลูกอยากได้ หรือเพื่อเป้าหมายที่ลูกเป็นคนกำหนดเอง และเคารพเหตุผลในการใช้เงินของลูก ปรับทักษะการทำงานหารายได้ให้เหมาะสมกับวัย
  • 6 เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการลงทุน ผลตอบแทน และความเสี่ยงในการลงทุนแต่ละแบบ และให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกด้วยเงินของเขา และเรียนรู้ไปด้วยกัน
  • 7 เมื่อลูกต้องตัดสินใจเลือกเรียน เพื่อวางแนวทางเลือกอาชีพในอนาคต ให้ลูกได้รับรู้และมีส่วนร่วมตัดสินใจเลือก ทั้งในเรื่องของสถานที่ แนวทางและค่าใช้จ่าย
  • 8 เมื่อลูกจบการศึกษา พร้อมดูแลตัวเอง ต้องปล่อยวาง ให้เขาตัดสินใจเรื่องการใช้ชีวิตด้วยตนเองและเคารพการตัดสินใจของเขา
  •  
  •  

แม้ว่าจะย้อนเวลากลับไปไม่ได้ บางอย่างได้ทำแล้ว บางอย่างไม่เคยทำ แต่อาจจะช่วยเปิดใจคนที่จะเป็นพ่อแม่ที่อาจจะไม่เคยนึกถึงมุมมองนี้ การจะสอนลูกได้พ่อแม่จะต้องลงมือทำ เพื่อเรียนรู้ปรับปรุงกระบวนการและเป็นต้นแบบ เรามักจะนึกกันว่า เรื่องแบบนี้ทำไมโรงเรียนไม่สอน ทำไมไม่มีในหลักสูตรการศึกษา แต่ในมุมที่อิป้าเห็น นิสัยการออมไม่ใช่แค่การสอนในโรงเรียน จะเป็นนิสัยได้ต้องฝึก ต้องปลูกฝัง และต้องตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการออม ออมอย่างมีเป้าหมาย และเรียนรู้ว่าจะใช้วิธีไหนที่ทำให้บรรลุเป้าหมายการออมนั้นตามที่ตั้งใจ

เมื่อต้องมีการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการออมก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมและหมั่นปรับปรุงความรู้ให้ทันสมัยสม่ำเสมอ การเริ่มต้นแต่วัยเด็กจากครอบครัวจึงน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้มั่งคั่ง มั่นคง และส่งต่อได้

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th